แนวคิดการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน (หรือทั่วไปเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าแผนตะวันตก) และแพทย์แผนไทย มีพื้นฐานการพิจารณาโรค อาการ และแนวทางการรักษา การใช้ยาที่แตกต่างกัน
ซึ่งสามารถผนวกเสริมร่วมกันได้ เปิดใจรับรู้ เปิดกว้างศึกษาการแพทย์เชิงบูรณาการ Integrative Medicine จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่แพทย์สามารถนำมาใช้ ในการรักษาคนไข้ด้วยกัญชาทางการแพทย์ได้ คือ แนวคิดในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ โดยคำนึงถึงการดูแลรักษาอาการของโรคทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณของคนไข้ ฟื้นฟูร่างกาย ขจัดโรค พัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของคนไข้และครอบครัวหรือผู้ดูแล
สวัสดีคลินิกเวชกรรม sawasdeeclinic.com
การแพทย์แผนปัจจุบัน (Conventional Medicine) คือการรักษาพยาบาลรูปแบบหนึ่งซึ่งผู้ที่ให้การรักษาจะต้องสำเร็จการศึกษาวิชาชีพแพทย์ และได้รับใบประกอบโรคศิลปะ เป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทาง คือ ผู้ประกอบโรคศิลปโดยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิทยาโดยสากลนิยม ซึ่งดำเนิรและจำเริญขึ้นอาศัยการศึกษาตรวจค้นและทดลองของผู้รู้ในทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
การแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine) เป็นการแพทย์ที่ดูแลสุขภาพคนไทยมานานนับพันปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่ามีการใช้ยาจากสมุนไพรในการรักษาโรคในอาโรคยศาลากว่า 100 แห่ง ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของอาณาจักรขอม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมาตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงสุโขทัย องค์ความรู้การแพทย์แผนไทยได้รับอิทธิพลจากความเชื่อทางพุทธศาสนาในเรื่องของธาตุสี่และขันธ์ห้า และได้พัฒนามาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสุโขทัยและรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการรวบรวม สังคายนา บันทึกองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย ตำรับยาไทย การนวดไทยเป็นจารึก คัมภีร์ และตำราการแพทย์แผนไทยต่าง ๆ
จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลการแพทย์แผนตะวันตกแห่งแรกของประเทศในปี พ.ศ. 2430 ได้มีทั้งการรักษาพยาบาลด้วยการแพทย์แผนไทย และการเรียนการสอนการแพทย์แผนไทยควบคู่ไปกับการรักษาและการเรียนการสอนการแพทย์แผนตะวันตกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บริการและการเรียนการสอนการแพทย์แผนไทยต้องยุติลงในราวปี พ.ศ. 2458 ทำให้การแพทย์แผนตะวันตกเข้ามามีบทบาทเต็มที่ในระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ
จุดก้าวกระโดดของสถาบันการแพทย์แผนไทยสู่การเป็นกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญของการแพทย์แผนไทย ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2545 โดยรัฐบาลกำหนดความจำเป็นและขอบเขตเกี่ยวกับการปฎิรูประบบราชการ มีผลให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างบทบาทภารกิจ อัตรากำลังด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้น โดยโอนหน่วยงานสถาบันการแพทย์แผนไทย ศูนย์ความร่วมมือการแพทย์แผนไทยจีน และศูนย์ประสานงานการแพทย์ทางเลือก มาสังกัดกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ตั้งขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
Add a Comment