โรคซึมเศร้า (Depression disorder) และ โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) นับเป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากกาอาการเศร้า หรือ ความวิตกกังวลแบบปกติทั่วไป โดยเป็นความรู้สึกที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน
โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจเพียงอย่างเดียวอย่างที่หลาย ๆ คนคิด แต่เกิดจากการที่สมองหลั่งสารผิดปกติ ได้แก่ โดปามีน (dopamine) สารเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ส่งผลให้ร่างกาย พฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ เกิดความแปรปรวน
ส่วนอาการวิตกกังวลนั้นสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบทั้งทางจิตใจและแสดงออกทางร่างกาย อาทิ
- ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย สับสน หงุดหงิดง่าย
- นอนไม่หลับ หลับยาก หรือตื่นบ่อย
- อ่อนเพลีย
- ง่วงนอนตอนกลางวัน
- มีความกลัวจนใจสั่น รู้สึกเหมือนหน้ามืด หายใจลำบาก
- มีอาการคลื่นไส้
- ปวดท้อง มวนท้อง ท้องเสีย
1.โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) คือเกิดความกังวลที่มากกว่าปกติในเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น งาน ครอบครัว สุขภาพ การเรียน ซึ่งผู้ป่วยยังสามารถระงับความรู้สึกได้ด้วยตัวเอง แต่หากผู้ป่วยยังรู้สึกวิตกแบบเดิมนานเกินกว่า 6 เดือน ไม่สามารถปรับตัวให้รับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ อาจทำให้เกิดความอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด และนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท หากมีอาการลักษณะนี้ ควรเข้าไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป
2.โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก คือเกิดความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ ตื่นตระหนก กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือตาย มีอาการเจ็บป่วยนิดหน่อยก็กลับมีความกังวล เช่น กลัวว่าจะเป็นโรคร้าย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ได้ป่วยทางกายแต่ป่วยทางจิตต่างหาก อาการโรควิตกกังวลเกินเหตุ อาจเกิดเป็นพักๆ ทำให้เหงื่อออก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ร้อนวูบวาบ แน่นหน้าอก วูบเหมือนจะเป็นลม อาการแบบนี้อาจทำให้เสียสุขภาพจิตและอาจนำไปสู่ภาวะอื่นๆ ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า ติดสารเสพติด เป็นต้น
3.โรคกลัวสังคม (Social Phobia) คือความวิตกกังวลที่จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าต้องถูกจ้องมอง ทำอะไรที่น่าอาย ต้องคอยหลบ รู้สึกประหม่า และมักคิดในแง่ลบว่าคนอื่นจะนินทาลับหลัง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจทำให้เกิดอาการหน้าแดง เหงื่อออก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว ที่น่าสนใจ คือโรคนี้มักแอบแฝงอยู่ในตัวบุคคลที่ดูเป็นปกติสุขดี มองดูภายนอกร่างกายก็สมบูรณ์แข็งแรงดี และไม่มีทีท่าว่าจะป่วยแต่อย่างใด สาเหตุของอาการนี้อาจเกิดจากการเลี้ยงดู ขาดทักษะการเข้าสังคม หรือเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมอง พันธุกรรม
4.โรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia) คือความวิตกกังวลที่มากเกินไปในเรื่องบางเรื่อง บางสิ่งบางอย่างแบบเจาะจง เช่น กลัวเลือด กลัวที่แคบ กลัวรู กลัวสุนัข เป็นต้น แม้ว่าจะรู้สึกกลัวไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ไม่สามารถห้ามความกลัวได้ พยายามจะหลีกเลี่ยงไม่เผชิญกับสิ่งที่ตัวเองกลัว ผู้ป่วยมักเกิดปฏิกิริยาทางกายขึ้นมาหากอยู่ในสถานการณ์จำเพาะเจาะจง เช่น ใจสั่น หน้ามืด มือ-เท้าเย็น อาจทำให้ใจสั่น หายใจลำบาก เหงื่อออก
5.โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) ความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบซ้ำๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ แม้ว่าอาการแบบนี้จะไม่รุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก แต่ทำให้เสียเวลาชีวิตไปกับพฤติกรรมเหล่านั้นไม่น้อย ซึ่งอาการย้ำคิดย้ำทำแบบนี้กลับพบบ่อยในคนวัยทำงาน เช่น คิดว่าลืมล็อคประตูบ้านต้องเดินกลับไปดูว่าล็อคหรือยัง คิดว่าลืมปิดก็อกน้ำต้องกลับไปเช็คอีกครั้ง เป็นต้น
6.โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) คืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย ภาวะภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ร้ายแรง ถูกทำร้ายหรือเห็นคนใกล้ตัวตาย เป็นต้น อาการเกิดขึ้นได้หลายอย่าง ตั้งแต่เงียบเฉย ขาดการตอบสนอง ตกใจง่าย หวาดกลัว กังวลในเรื่องเล็กน้อย คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆและเกิดความกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาใหม่เหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง รวมถึงหวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
การรักษา
แม้โรคซึมเศร้าวิตกกังวลจะมีข้อมูลระบุว่าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่เมื่อวินิจฉัยอย่างจริงจังจะพบว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ วิธีรักษาให้ได้ผลก็คือ ต้องเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมตามลำดับของสาเหตุนั้น ๆ
อย่างเช่นคนไข้ที่ประสบเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต เช่น หย่าร้าง ตกงาน คนรักเสียชีวิต อาจแก้ไขได้โดยวิธีบำบัดมากกว่าการกินยา เพราะคนไข้กลุ่มนี้ต้องการให้มีคนมารับฟังความทุกข์ของเขา หรือหมออาจแนะนำให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว ชุมชน ได้นอนหลับที่เพียงพอ หรือ ไปพบนักบำบัดอาการ
ส่วนคนไข้ที่ซึมเศร้าจากอาการของโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ไฮโปธัยรอยด์ ต่อมอรีนัล ฮอร์โมนเพศ หรืออาการป่วยของลำไส้ ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลให้เกิดเกิดอาการซึมเศร้าได้ ฉะนั้นควรเพิ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือแล็บ รวมถึงคนไข้ที่รู้อาการป่วยของตัวเอง ต้องบอกหมอเพื่อนำมาวินิจฉัยโรคและกำหนดวิธีรักษา
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การอักเสบในสมอง หรือการอักเสบในส่วนอื่นของร่างกายที่มีผลต่อสมอง อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายของคนปกติ อาจส่งผลต่อสมอง จึงไม่แปลกที่บางคนมีชีวิตที่ปกติสุข แต่อยู่ ๆ วันหนึ่งเกิดอาการซึมเศร้า ไม่อยากตื่นมาเจอโลก อาจเป็นผลมาจากการอักเสบในสมองก็เป็นได้
การที่มนุษย์เรามีอารมณ์ที่ผิดปกติ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด นอนไม่หลับ อาการเหล่านี้เกิดจากการที่สารเคมีในสมองขาดความสมดุล ส่งผลต่อสภาพจิตใจและพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ สารเคมีในสมองมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สารสื่อประสาท”
หรือ Neurotransmitter เป็นสารที่เซลล์ประสาทสร้างขึ้นเพื่อใช้ส่งกระแสประสาทจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง นั่นเอง สารเคมีในสมองที่สำคัญมีดังนี้
1. แอซิติลโคลีน (Acetylcoline) เป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การควบคุมพฤติกรรม ความจำ สมาธิ และการเรียนรู้
2. โดพามีน (Dopamine) ได้ชื่อว่าเป็นสารแห่งความสุข ซึ่งจะปล่อยออกมาเมื่อเรารู้สึกพึงพอใจ เช่น ได้ทานอาหารที่ชอบ ได้ออกกำลังกาย รวมถึงเวลาที่เรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดพามีนจะช่วยให้เรากิจกรรมนั้นๆ ได้ไม่รู้เบื่อ
3. นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) จะหลั่งออกมาเมื่อเกิดความกลัวและเครียด เพื่อกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มความดันโลหิต ทำให้เซลล์ได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น สำหรับเป็นพลังงานในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ ร่างกายจะหลั่งนอร์เอพิเนฟรินสูงในตอนเช้า เพื่อกระตุ้นให้เรารู้สึกตื่นตัวและพร้อมสำหรับกิจกรรมในวันใหม่
4. ซีโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารที่ควบคุมสภาพอารมณ์ ความรู้สึกเจ็บปวด ความหิว การหายใจ การนอนหลับ และพฤติกรรมอื่นๆ หากระดับสารซีโรโทนินต่ำ จะส่งผลต่ออารมณ์โดยตรง คือทำให้วิตกกังวล ก้าวร้าว ซึมเศร้า
5. กาบา (GABA) เป็นสารสื่อประสาทชนิดที่ยับยั้งกระแสประสาท ทำให้สมองที่ได้รับการกระตุ้นเกิดสมดุลและผ่อนคลายลง
6. เอนดอร์ฟิน (Endorphin) เป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายสารเสพติด ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หายจากความเจ็บปวด สร้างความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม พึงพอใจ จะหลั่งออกมาเมื่อในขณะออกกำลังกาย รู้สึกตื่นเต้น หรือมีเพศสัมพันธ์
การใช้กัญชารักษา เครียด โรคซึมเศร้า วิตกกังวล
มีบันทึกในประวัติศาสตร์มายาวนาน ถึงการใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการซึมเศร้า สร้างความผ่อนคลาย กระตุ้นพลังงาน และเสริมอารมณ์ความสุขของผู้ใช้ ในหลายประเทศทั่วโลก ปัจจุบันกัญชาทางการแพทย์ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาสภาวะการเสื่อมของร่างกายต่างๆ อาทิ มะเร็ง พาร์กินสัน นอนไม่หลับ ปวดเรื้องรัง ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเหล่านี้มักต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้กัญชาจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งให้พวกเขารับมือกับความเครียด และอาการซึมเศร้าได้
มหาวิทยาลัย Southern California ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับกัญชาและภาวะซึมเศร้าโดยใช้แบบสำรวจที่กำหนดเป้าหมายทั้งผู้ใช้กัญชาและผู้ที่ไม่ใช้กัญชา งานวิจัย “ The Center for Epidemiologic Studies Depression Scale” แสดงผลลัพธ์ที่น่าสนใจ จากการสำรวจ 4,400 คนพบว่าคนที่ใช้กัญชามีอาการซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ใช้
A Brain on Cannabinoids: The Role of Dopamine Release in Reward Seeking https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3405830/
ทำไมสมองถึงตอบสนองต่อการทำงานกัญชา?
สารออกฤทธิ์ที่สำคัญในกัญชา tetrahydrocannabinol (THC) มีลักษณะคล้ายสารเคมีที่ผลิตในสมองตามธรรมชาติเรียกว่า cannabinoids
Anandamide เป็นหนึ่งใน cannabinoids ที่ร่างกายผลิตขึ้น ซึ่งทำงานสัมพันธ์ต่อการสร้างพลังงาน ความอยากอาหาร อารมณ์ และการรับรู้ในสมองของเรา Anandamide ช่วยให้การทำงานของสมองสมดุลและได้รับการควบคุม เมื่อคนไข้ได้รับยากัญชาที่ทำงานร่วมกับระบบประสาทส่วนนี้ทำให้เกิดความสมดุลในสมองที่อาจจะขาดหายไปจนทำให้เกิดอาการเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าได้
สารสำคัญ THC ยังทำงานโดยกระตุ้นสารเคมีที่เรียกว่าโดปามีน เมื่อโดปามีนถูกปล่อยออกมาทางสมอง จะทำหน้าที่สร้างความรู้สึก rewarding หรือรางวัลความสุขแก่เรา การศึกษาในสัตว์ทดลองชี้ให้เห็นว่าเซลล์ประสาทที่สร้างโดปามีนถูกควบคุมโดยสารสื่อประสาทกลูตาเมตและกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (GABA) สารเคมีทั้งสองทำหน้าที่ร่วมกันเพื่อควบคุมการผลิตโดพามีน ทำการส่งสัญญาณว่าเมื่อไหร่ควรหลั่ง เมื่อไหร่ควรหยุด THC ยับยั้งการผลิต ของ GABA ให้ส่งสัญญาณหยุดปล่อยโดปามีนน้อยลง และกระตุ้นให้ปล่อยโดปามีนมากขึ้น
นอกจากนั้น การใช้สารสกัด CBD ก็เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะซึมเศร้าได้ดีเนื่องจากมีผลต่อความสามารถของสมองในการผลิตเซโรโทนิน
CBD ยังมีประสิทธิภาพในการจัดการอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า เช่น การกระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยให้หลับ และหลับสนิทหลับลึก ลดความวิตกกังวลระหว่างวัน โดยไม่มีผลต่อจิตประสาทด้านอื่น
สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าไม่มีใครควรหยุดใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพคนอื่น ๆ การหยุดยาเหล่านี้อย่างกะทันหันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญและไม่พึงประสงค์
“Longevity, Naturally”
www.sawasdeeclinic.com
สวัสดีคลีนิกเวชกรรม Sawasdee Clinic
ปรึกษาแพทย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โทร 029724013, 029723981, 0934381515
Add a Comment